ทำอย่างไรเมื่อ “เส้นเลือดขอด” และเท้าบวมในช่วงตั้งครรภ์

ขาของใครก็ไม่รับบทหนักเท่าขาแม่ยามตั้งครรภ์ ดูแลกันหน่อยนะคะ ป้องกันอาการ ขาบวม  อาการเส้นเลือดขอด ส่วนมากเรียวขางามๆ ของผู้หญิง ปกติไม่ต้องดูแลกันสักเท่าไร แต่ในยามที่ตั้งครรภ์ เผลอนิดเดียว ก็เกิดอาการขาบวมไปถึงเท้า เส้นเลือดขอดเขียวๆ ปรากฏเป็นร่างแหใต้ข้อพับ พร้อมไปกับอาการเมื่อยล้าตลอดขาถึงปลายเท้าเกิดขึ้นได้ง่ายๆ
เส้นเลือดขอด..เรื่องธรรมชาติ
โดยเป็นธรรมชาติของคนเป็นแม่ ร่างกายช่วงนี้มีปัญหาแรงดันส่งของหลอดเลือดดำไม่ค่อยสะดวก หลอดเลือดดำเลยมาออและอุดตันเป็นลักษณะโป่งพอง เห็นเป็นเส้นเลือดขอดอยู่ตามผิวหนังชั้นนอกบนท่อนขาคุณแม่

แต่ถ้าหากคุณแม่ปฏิบัติตัวถูกต้องตั้งแต่แรก จะช่วยป้องกันได้ หากเป็นแล้วก็อย่าได้วิตก เพราะหลังจากคลอดน้องแล้ว อาการเส้นเลือดขอดจะค่อยบรรเทาเบาบางหรือหายไป ถ้าหากเป็นไม่มาก สำหรับคนที่เป็นมาก ไม่จางหายไปเอง ก็สามารถผ่าตัดเส้นเลือดขอดออกได้หลังจากคลอดแล้ว
บรรเทาบวมได้อย่างไร ?
อาการบวมที่ขาและเท้า ส่วนใหญ่จะเป็นกันในช่วงสัปดาห์ที่ 36-37 มักจะมีอาการมากในช่วงกลางวัน ยิ่งตกเย็น จะสังเกตเห็นว่าเท้าคุณแม่บวมเป่งจนคับรองเท้าเพราะยืนๆนั่งๆ มาตลอดวัน เลือดไหลกลับสู่หัวใจไม่สะดวก และหัวลูกที่เริ่มเข้าไปอยู่ในอุ้งเชิงกรานบล็อกเบียดเส้นทางเดินเลือด ทำให้น้ำรั่วออกมาจากเส้นเลือด ส่งผลให้ขาบวม
เนื่องจากว่าอาการนี้เป็นไปตามกลไกธรรมชาติ คงไม่มีทางป้องกันได้ นอกจากจะบรรเทาให้บวมน้อยลงเท่านั้น คือต้องพักจากท่ายืนหรือนั่งเป็นการนอนพักบ้าง โดยเฉพาะนอนในท่าตะแคง เลือดจะกลับไปที่หัวใจได้ดีขึ้น

10 วิธี..พิชิตเส้นเลือดขอดและบวม
1.ให้คุณแม่ออกกำลังกายสม่ำเสมอให้ช่วงขาแข็งแรง กล้ามเนื้อจะได้มีแรงบีบส่งแรงดันเลือดดำกลับไปฟอกที่ร่างกายส่วนบนได้ตาม ปกติ ในช่วงที่อายุครรภ์มากขึ้น ออกกำลังกายไม่ค่อยสะดวก แนะนำให้ใช้วิธีเดินในน้ำ แรงต้านของน้ำจะทำให้ได้ออกแรงมากขึ้น แต่ร่างกายไม่หักโหม

บวมไม่ธรรมดา
อาการบวมของคุณแม่ตั้งครรภ์อาจไม่ปกติธรรมดา ถ้าสังเกตว่าได้พักผ่อน หลีกเลี่ยงการเดิน ยืนนานๆ ก็แล้วยังไม่หายบวม ควรไปให้คุณหมอตรวจ หากพบว่าความดันโลหิตสูงด้วย อาจเป็นเรื่องของครรภ์เป็นพิษก็ได้ ซึ่งคุณหมอจะได้ทำการรักษาดูแลอย่างใกล้ชิด


2.คุณแม่ไม่ควรยืนทำงานอยู่กับที่นิ่งๆ นานๆ เช่น รีดผ้า ทำกับข้าว ฯลฯ พยายามเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ เป็นเดินไปมา (ได้ออกกำลัง) หรือลงนั่งสลับบ้าง ยืดหยุ่นกล้ามเนื้อน่องอยู่เสมอ


3.เวลานั่งนานๆ ก็ควรลุกขึ้นเปลี่ยนท่าทางบ้าง และไม่นั่งไขว่ห้างอย่างเด็ดขาด
4.ให้คุณแม่ยกขาขึ้นสูงในระดับเสมอกับลำตัวขณะพักผ่อนในท่าสบายๆ และจะดีมากทีเดียวถ้ายกขาให้ขึ้นเสมอระดับหัวใจได้


5.คุณแม่ควรรักษาระดับน้ำหนักตัวไม่ให้ขึ้นมากเกินกำหนด
6.รับประทานอาหารที่มีเส้นใยมากๆ ป้องกันอาการท้องผูกซึ่งในช่วงนี้อาจทำให้เป็นริดสีดวงได้ง่าย
7.นอนตะแคง น้ำหนักจะได้ไม่กดทับเส้นเลือด

8.สวมผ้ายืดพยุงกล้ามเนื้อที่ขา
9.อย่ารับประทานอาหารเค็มจัด
10.ใส่รองเท้าที่โปร่งสบาย จะได้ไม่คับในช่วงเย็นหรือเมื่อยืนเดินมาทั้งวัน
สุดท้ายขอให้คุณแม่ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรง และนำข้อมูลไปใช้ให้เป็นประโยชน์กับตัวเองด้วยนะค่ะ เพราะหลังจากคลอดแล้วคุณแม่ก็จะกลับมามีขาที่เรียวสวยเหมือนเดิมค่ะ
 
 
ขอขอบคุณที่มารักลูก และภาพสวยๆ จากอินเตอร์เนต